เมนู

เครื่องลดความชื้นในอากาศคืออะไร เมื่อไหร่ถึงจำเป็นต้องใช้

เครื่องลดความชื้นในอากาศ

จำเป็นมั้ย ต้องมีเครื่องลดความชื้น

อากาศในเมืองไทยมีทั้งความร้อนและความชื้น ซึ่งทั้งสองอย่างควรมีความสมดุล เพื่อให้เกิดสภาวะอยู่สบาย อย่างภายในบ้าน ระดับความชื้นที่เหมาะสม คือไม่เกิน 60 %RH แต่ช่วงไหนที่มีฝนตกชุกมาก ไม่สามารถเปิดหน้าต่างระบายอากาศต่อเนื่องหลายวัน ก็ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์สูงมากขึ้นได้ ความชื้นที่มากเกินไปนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพของบ้าน ยังมีผลสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่สามารถควบคุมความชื้นที่เกิดขึ้นในวงจรของธรรมชาติ แต่เราสามารถควบคุมความชื้นในบ้านให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัยได้ ด้วย “เครื่องลดความชื้น” ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความชื้นที่เกินพอดีนี้ได้ครับ

เนื้อหา : บ้านไอเดีย

เชื้อราบนผนังจากบ้านชื้น

ภาพ: smartdry

เมื่อไหร่ถึงจำเป็นต้องใช้เครื่องลดความชื้น

หากสังเกตว่า ในบ้านมีกลิ่นอับชื้นตลอด มีรอยคราบน้ำบนผนังหรือกระจก เฟอร์นิเจอร์ไม้อัดพองตัว ของใช้ที่มีส่วนประกอบของเหล็กเกิดสนิม เครื่องหนังมีเชื้อราที่มองเห็นชัด หายใจในบ้านลำบาก สถานการณ์แบบนี้เป็นสัญญาณแสดงว่าในบ้านมีความชื้นสูง ซึ่งความชื้น (Humidity) หรือสภาวะที่อากาศมีไอน้ำปะปนอยู่มากในบ้าน จะทำให้แบคทีเรีย เชื้อโรค เชื้อรา และไรฝุ่น อันเป็นสาเหตุการเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเจริญเติบโตได้ดี

ความชื้นในบ้านสามารถตรวจวัดด้วยค่าของตัวเลขจากเครื่องวัดความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity meter) ถ้าในห้องมีกลิ่นและรู้สึกว่าเปียก มีเชื้อรา ความชื้นที่วัดได้จะอยู่ระหว่าง 70-90 เปอร์เซ็นต์ จัดอยู่ในระดับ ชื้นมากหรือเปียก เมื่อต้องการพิจารณาว่าห้องนั้นๆ จำเป็นต้องใช้เครื่องลดความชื้นหรือไม่ ก็จะสำรวจการเปลี่ยนแปลงของอากาศต่อชั่วโมง (ACH) เพื่อคำนวณการไหลเวียนของอากาศที่จำเป็นในการลดความชื้นในห้องควบคู่ไปด้วย ความชื้นมากถึงเปียกตลอดเวลาจะเริ่มจากค่าตัวเลข 4-6 (very damp- extremely wet)

hygrometer

ภาพ: sustaintrust

หากเราไม่แน่ใจว่าในห้องหรือในบ้านมีระดับความชื้นเท่าไหร่ ก็สามารถซื้อ ไฮโกรมิเตอร์ (hygrometer) มาใช้ตรวจสอบเบื้องต้นได้ ไฮโกรมิเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่มีเซ็นเซอร์ความชื้น บางรุ่นจะแสดงอัตราส่วนของความชื้นสัมพัทธ์ต่อความชื้นสัมบูรณ์หน่วยเป็น % บนหน้าจอ LCD ทำให้อ่านค่าได้ง่ายและราคาไม่สูง

เครื่องลดความชื้นในอากาศ

ภาพ: skyheating

หลักการทำงานของเครื่องลดความชื้น

ในปัจจุบันเครื่องลดความชื้นจะแบ่งออกตามหลักการทำงานเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  • เครื่องลดความชื้นแบบดูดซับ Desicant Dehumidifiers เป็นเครื่องลดความชื้นแบบใช้สารดูดความชื้น จะดูดอากาศเข้าในเครื่อง Desiccant แล้วใช้ลมร้อนเป่ากำจัดความชื้นออกจากวัสดุ Silica gel ที่ดูดความชื้นไว้ แล้วหมุนเวียนการดูดและการกำจัดความชื้นอย่างต่อเนื่อง
  • เครื่องลดความชื้นแบบใช้ความร้อน โดยการใช้ฮีตเตอร์เพิ่มความร้อนภายในห้อง
  • เครื่องลดความชื้นแบบกลั่นตัวเปลี่ยนสถานะ (Condensation Dehumidifiers ) ซึ่งเป็นแบบที่นิยมนำมาใช้งานภายในบ้าน

เครื่องลดความชื้น ( Dehumidifier ) ใช้ควบคุมปริมาณความชื้นในอากาศของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มีหลักการทำงานใกล้เคียงกับเครื่องปรับอากาศ คือ ทำหน้าที่ลดความชื้นในอากาศ โดยการดูดอากาศจากบริเวณรอบๆ เข้าสู่ภายในตัวเครื่องขจัดความชื้น จากนั้นจะผ่านแผงคอยล์เย็นเพื่อกลั่นอากาศชื้นให้กลายเป็นหยดน้ำ แล้วปล่อยอากาศร้อนหรืออากาศแห้งเข้ามาแทนที่ ในขณะที่ความชื้นที่ถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นหยดน้ำ ก็จะถูกปล่อยทิ้งตามท่อน้ำทิ้งหรือถังเก็บน้ำในปริมาณหลายลิตรต่อวัน ทำให้คนในบ้านรู้สึกสบายตัว หายใจสะดวก และถนอมบ้านจากความชื้นได้เป็นอย่างดี

เครื่องลดความชื้นในบ้าน

ภาพ: nytimes.com

วิธีเลือกซื้อเครื่องลดความชื้น

1. ขนาดความจุของเครื่องสมดุลกับขนาดพื้นที่ห้อง การเลือกขนาดของเครื่องได้เหมาะสม จะทำให้สามารถลดความชื้นในห้องหรือในบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนเครื่องปรับอากาศที่ต้องเลือกขนาดกี่ BTU ให้เหมาะกับพื้นที่ห้องกี่ตารางเมตรจึงจะกระจายความเย็นทั่วถึง แต่การคำนวณพื้นที่สำหรับเครื่องลดความชื้นจะใช้หน่วยเป็นตารางฟุต เราสามารถใช้ตลับเมตรวัดได้ง่ายๆ เพราะมีหน่วยวัดเป็นฟุตอยู่แล้วไม่ต้องนำมาแปลง โดยนำทั้งความกว้าง×ยาว×สูงมาคิดรวมกัน เช่น ห้องขนาดประมาณ 46 ตรม. หรือประมาณ 500 ตารางฟุต ที่มีกลิ่นอับชื้น อากาศชื้นแฉะ ก็ต้องใช้เครื่องลดความชื้นขนาดประมาณ 19 – 21 ลิตร เป็นต้น

2. ขนาดความจุเหมาะสมกับระดับความชื้น ระดับความชื้นหรือ wet conditions ในแต่ละห้องจะมีความชื้นมาก-น้อย ไม่เท่ากัน ในห้องที่ขนาดเล็กแต่ความชื้นสูงก็ต้องการความจุที่มากกว่า โดยต้องคำนวณหาความชื้นที่ต้องการกำจัดออกจากอากาศภายในห้องต่อวันก่อน เช่น สภาพความชื้นที่ชื้นมาก ให้ซื้อเครื่องลดความชื้นที่สกัดน้ำ 16 ไพน์ (7.57 ลิตร) จากอากาศภายใน 500 ตารางฟุต (46.45 ตารางเมตร)

ทั้งข้อ 1 และข้อ 2 จะต้องคำนวณด้วยสูตรที่ค่อนข้างยุ่งยาก ตรงจุดนี้อาจจะวัดพื้นที่เบื้องต้น ตรวจระดับความชื้น แล้วนำไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ช่วยคำนวณขนาดความจุที่เหมาะสมกับบ้าน

3. เลือกซื้อเครื่องลดความชื้นจากคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ต้องการ เครื่องลดความชื้นบางแบรนด์บางรุ่น จะมีฟังก์ชันการใช้งานที่นอกเหนือจากการช่วยลดความชื้นมาเพิ่มเติมด้วย อาทิ โหมดตั้งเวลาการทำงาน ระบบฟอกอากาศ หน้าจอดิจิทัลที่แสดงตัวเลขระดับความชื้น ควบคุมแบบระบบสัมผัส สามารถปรับค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ต้องการ หรือมีฟิลเตอร์ ที่ใช้สำหรับกรองกลิ่นอับ กลิ่นไม่พึ่งประสงค์ต่างๆ เพิ่มด้วย

4. เลือกระบบการระบายน้ำ เครื่องลดความชื้นบางรุ่นจะมาพร้อมกับถังเก็บน้ำ แต่บางรุ่นต้องติดตั้งท่อระบายน้ำ หากคุณไม่สะดวกที่จะล้างหรือทำความสะอาดตัวเครื่องได้ทุกวัน ก็ควรซื้อรุ่นที่มีท่อระบายน้ำให้น้ำสามารถไหลจากบ้านได้โดยตรง

5. เครื่องลดความชื้น มีทั้งแบบเคลื่อนย้ายได้สะดวกและแบบติดตั้งถาวร หากสภาพบ้านแวดล้อมด้วยปัจจัยที่เพิ่มความชื้นได้สูงมากตลอดเวลา ห้องหรือบ้านไม่สามารถเปิดระบายอากาศได้มาก ก็เหมาะที่จะติดตั้งแบบถาวร แต่ถ้าบ้านมีความชื้นสูงเพียงบางจุด บางห้อง ก็เลือกใช้แบบเคลื่อนที่

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด