บ้านโมเดิร์นภายนอกเข้มขรึม ภายในโปรยความอบอุ่นจนเต็ม
บ้านที่เราคุ้นเคยคุ้นตามักจะดีไซน์ให้เป็นรูปทรงที่ดูสมมาตร เท่ากันในทุกมุมทุกองศา ซึ่งแน่นอนว่าหากไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ การสร้างบ้านแบบนี้ก็ย่อมดี แต่สำหรับบ้างบางหลังที่มีข้อจำกัด เช่น ทิศทางของบ้านรับแสงแดดเต็ม ๆ หรือต้องการความเป็นส่วนตัวจากสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมาก็อาจจะจำเป็นต้องเบี่ยงตัว ตัด เฉือนอาคารหลบแสงหลบคน ก็เป็นความสวยงามแบบใหม่ ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์มาพร้อมกับการใช้งานเฉพาะตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นบ้านหลังนี้ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนตัวเติมจากบ้านที่สร้างอยู่ก่อนแล้ว เป็นรูปร่างเฉียงเอียงเข้าไปด้านใน
ออกแบบ : Parametr Indonesia
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
บ้านโมเดิร์น ต่อเติมให้กลมกลืนกับอาคารเดิม
บ้านนี้ตั้งอยู่ในย่าน Jagakarsa เมือง South Jakarta ประเทศอินโดนีเซีย บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่หน้าตาคล้าย ๆ กันหมด และ เจ้าของบ้านต้องการต่อเติมพื้นที่ในบ้านของเขาขนาด 7×15 เมตร (พื้นที่ใช้สอย 105 ตารางเมตร) หนึ่งในมาตรการด้านสุนทรียศาสตร์ที่จะใช้ในการตกแต่งใหม่คือ การใช้องค์ประกอบของอาคารเก่าและการปรับองค์ประกอบอาคารใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกลมกลืนกัน โดยที่ไม่ดูฉีกออกจากเพื่อนบ้านรอบข้าง
ภาพลักษณะการวางรูปร่างอาคารที่ต่อเติมจะบิดเบี่ยงเป็นลำดับลดหลั่นเข้าไป
ประตูทางเข้าที่ถูกอาคารบังอยู่ด้านข้าง ทำให้เป็นส่วนตัวมากขึ้น
ภายนอกเข้มคม ภายในโปร่งโล่งสว่างอบอุ่นสไตล์มินิมอล
ภายนอกบ้านดูปิดเป็นส่วนตัว ใช้โทนสีเทา-ดำให้ความรู้สึกโมเดิร์นเข้มคม แต่ภายในบ้านให้บรรยากาศที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ด้วยการเลือกสีขาวเป็นหลักตัดด้วยงานไม้ และมีจุดรับแสงเพื่อให้ความรู้สึกอบอุ่นอบอวลอยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นแนวคิดของบ้านทั่วโลกยุคใหม่ที่จะเน้นสเปซที่โล่งโปร่ง การจัดบ้านแบบ open space ลดผนังให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดพื้นที่ว่าง ๆ สำหรับนั่งเล่นนอนเล่นสบายหายใจสะดวก และสร้างการเชื่อมต่อพื้นที่ที่ลื่นไหล สไตล์นี้เราคุ้นเคยกันดีในบ้านแบบญี่ปุ่นโมเดิร์นที่จะใส่ความมินิมอลให้บ้านกลายจนเป็นเอกลักษณ์
ชั้นล่างของบ้านเป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่น มุมทานอาหาร และครัวที่วางตำแหน่งเรียงกันไปตามจุดต่าง ๆ เน้นไปที่ความเรียบง่ายทั้งเฟอร์นิเจอร์ โทนสี และการตกแต่ง ที่ไม่มีอะไรมากเกินความจำเป็น
หนึ่งในศักยภาพของบ้านหลังนี้ คือการวางโครงสร้างที่จัดเตรียมไว้สำหรับการต่อเติมบ้าน 2 ชั้นในอนาคต จึงสามารถใช้ทันทีและลดต้นทุนในการตกแต่งใหม่ในการเพิ่มห้องพักบนชั้น 2 ไปได้กว่า 33% ของพื้นที่อาคารทั้งหมด แต่ทั้งนี้สถาปนิกได้คิดคำนวณเรื่องน้ำหนักของเพดานชั้น 2 ช่องทางการรับแสง และการระบายอากาศภายในบ้านแล้ว สรุปได้ว่าควรเจาะโถงสูงบริเวณกลางบ้าน เพื่อลดน้ำหนักอาคารและใส่ช่องแสงกายไลท์บนหลังคา ช่วยให้บ้านรับแสงตรง ๆ จากด้านบน และยังเปิดปล่อยให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงแล้วออกจากตัวบ้านได้ดี
บ้านโถงสูงผนัง 2 ชั้น มีช่องเปิด บันไดโปร่ง ๆ ลดอบอ้าว
การสร้างพื้นที่โถงสูงตรงบันได ดีไซน์บันไดที่ไม่มีลูกตั้ง ช่องแสงสกายไลท์ และการทำสะพานทางเดินเป็นตะแกรง ทุกองค์ประกอบที่เต็มไปด้วยช่องว่างเหล่านี้ต่างก็ช่วยในการไหลเวียนอากาศขึ้นไปบนชั้นสอง เพื่อสร้างสภาวะสบายให้กับตัวบ้านมากที่สุด ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งในจุดนี้คือ การใช้พื้นที่บันได 3 ขั้นบนสุดก่อนจะถึงชานพักเป็นช่องเก็บของ สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง
ทิศทางของบ้านหันหน้าไปตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก ซึ่งเป็นสิ่งที่บ้านในเขตร้อนจะต้องแก้โจทย์ว่า จะเผชิญกับดวงอาทิตย์อย่างไรให้ภายในบ้านอยู่ได้แบบไม่ร้อน ความท้าทายนี้ได้รับการแก้ไขโดยการปรับองศาการวางตำแหน่งห้องส่วนตัวและห้องนอนเบี่ยงหลบไป 45 องศา เพื่อลดพื้นที่อาคารที่จะสัมผัสโดยตรงกับดวงอาทิตย์ ส่วนชั้นล่างใช้วิธีการทำผนัง 2 ชั้น เพื่อให้ด้านในของอาคารเย็นลง นอกจากนั้นยังมีหน้าต่างสูง 3 เมตรด้านหน้า ช่องทางระบายอากาศบนหลังคา ที่ช่วยให้ระบายอากาศตามธรรมชาติทำงานได้ดีขึ้น
ห้องนอนบรรยากาศแสนสบายด้วยห้องโทนสีขาวสะอาดตาชวนให้พักผ่อน เข้ากันกับชุดเครื่องนอนชุดสีโมโนโครม เพื่อสร้างความรู้สึกสงบ ช่องแสงขนาดใหญ่ที่จัดอยู่ในจังหวะที่เหมาะสมทำให้ยิ่งผ่อนคลาย เติมความสดชื่นแบบใกล้ชิดกับธรรมชาติด้วยกระถางปลูกต้นไม้ใบเขียว ที่มองเห็นได้ในทุกมุมของบ้าน
แปลนบ้าน