เมนู

บ้านไทยกลิ่นอายญี่ปุ่น ไออุ่นสไตล์มินิมอล

บ้านสไตล์มินิมอล

บ้านไทยกลิ่นอายญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่หากใครได้ไปเยือนสักครั้งต้องตกหลุมรักในความเป็นระเบียบ ความเรียบง่ายเป็นธรรมชาติและความอ่อนน้อมของผู้คน ที่ทำให้ติดตรึงอยู่ในใจได้ไม่ยาก แนวคิดการออกแบบบ้านหลังนี้ก็มีที่มาจากตัวตนของเจ้าของบ้านที่เติบโตและเรียนในประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีความคุ้นเคยกับบรรยากาศภายในบ้านแบบญี่ปุ่นและต้องการหยิบสิ่งที่ประทับใจมาเก็บไว้ภายใน อย่างไรก็ตามการออกแบบบ้านโดยนำ concept ของต่างประเทศมาใช้ อาจจะมีข้อจำกัดซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ ฟังก์ชัน ที่ใช้ได้ดีในญี่ปุ่นแต่ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย วัสดุที่ใช้งานก็แตกต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ของนักออกแบบที่จะปรับประยุกต์แบบบ้าน การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง ของตกแต่งที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับงบประมาณ ความต้องการของผู้อยู่อาศัย และความเข้ากันได้กับบริบทแวดล้อมอย่างสมเหตุสมผล

ออกแบบ : TSEB Design
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ช่องแสงขนาดใหญ่

แรงบันดาลใจ บ้านกลิ่นอายญี่ปุ่น

บ้าน 2 ชั้นหลังนี้แสดงออกถึงความเรียบง่ายทั้งเส้นสายที่ไม่ซับซ้อนและตัววัสดุที่ใช้ เน้นการเชื่อมโยงกันของพื้นที่ภายในบ้าน แต่ยังคงพื้นมีที่ส่วนตัวของแต่ละโซน จัดพื้นที่ส่วนกลางของบ้านให้มีความต่อเนื่องกัน สามารถมองเห็นและสื่อสารกันได้ง่าย ทีมสถาปนิก TSEB Design เลือกใช้งานไม้จริงทั้งหมดในการตกแต่ง เพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้ถูกห่อหุ้มด้วยธรรมชาติ  รอบ ๆ บ้านปลูกต้นไม้บริเวณช่องแสงเพื่อสร้างบรรยากาศสดชื่นให้บ้าน และทำให้บ้านดึงทิวทัศน์ภายนอกเข้าสู่ภายในให้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

ทางเดินเข้าสู่ตัวบ้าน

จากประตูรั้วไม้เล็ก ๆ เปิดเข้ามาจะเป็นทางเดินแผ่นคอนกรีตและสนามหญ้าเขียว ๆ นำสายตาเข้าสู่ตัวบ้าน

“เก็นคัง” ที่วางรองเท้าแบบญี่ปุ่นยินดีต้อนรับ

การตกแต่งภายในชวนให้ระลึกถึงบรรยากาศของความเป็น “ ญี่ปุ่น” ที่ไม่มีใครเหมือน ตั้งแต่ประตูบ้านเข้ามาจะต้อนรับด้วย เก็นคัง (Genkan) หรือที่ถอดรองเท้า ซึ่งส่วนนี้จะช่วยบังห้องในบ้านออกจากสายตาด้วย พื้นบริเวณถัดไปจะยกขึ้นต่างระดับเล็กน้อยเพื่อบอกขอบเขตของพื้นที่อยู่อาศัยที่เป็นส่วนตัวขึ้น สำหรับตู้เก็บรองเท้าที่เรียกว่า “getabako” เลือกใช้แบบแขวนติดผนังลอยตัว เพื่อไม่ให้กินพื้นที่ ลดการสะสมของฝุ่น และทำความสะอาดได้ง่าย ในจุดถอดรองเท้าจะทำช่องแสงขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อรับแสงแดดเข้ามาลดความชื้นของรองเท้าที่จะก่อให้เกิดความชื้นภายในบ้านด้วย


ห้องนั่งเล่นผนังกระจก

ห้องนั่งเล่นมินิมอลแบบญี่ปุ่น

Open plan ทำให้บ้านโล่ง ผนังกระจกทำให้บ้านโปร่ง

เมื่อก้าวจากโซนวางรองเท้าเข้ามาจะพบกับห้องนั่งเล่น ที่สัมผัสได้ถึงความโปร่งและสว่างจากประตูกระจกขนาดใหญ่ ความกว้างของประตูนอกจากจะช่วยระบายอากาศร้อนได้ดีแล้ว ยังรับอากาศใหม่ ๆ เข้ามาไหลเวียนในบ้านได้ง่าย พร้อม ๆ กับเป็นการเบลอขอบเขตระหว่างภายนอกภายในไปพร้อม ๆ กัน  แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องแสงและความเป็นส่วนตัว เพราะนักออกแบบติดตั้งม่านม้วนเอาไว้ให้เลือกระดับความเป็นส่วนตัวและพื้นที่รับแสงได้ตามใจ ด้วยพื้นที่บ้านที่ไม่กว้างมากทีมงานจึงจัดแปลนแบบ open plan รวมพื้นที่ใช้งานส่วนกลาง คือ ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว เรียงร้อยเชื่อมต่อเนื่องกันโดยไม่ต้องมีผนังแบ่งกั้น ทำให้บ้านดูโล่งขึ้น ใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นและลื่นไหล

ครัวและห้องทานข้าวสไตล์มินิมอล

Double space โถงสูงเชื่อมพื้นที่และความสัมพันธ์

บริเวณส่วนครัวออกแบบให้แพนทรีต่อเนื่องมาจากผนังสีขาวที่เหมือนถูกเจาะเฉือนออก ตกแต่งด้วยประเบื้องสีขาวและงานไม้ ตัดเส้นสายตาด้วยอุปกรณ์ฟิตติ้งสีเทาดำ เหนือห้องครัวจะเจาะเพดานเป็นโถงสูงแบบ Double Space  ซึ่งมีข้อดีคือเพดานที่สูงเป็นสองเท่าจะทำให้อากาศร้อน ควัน และกลิ่นในขณะที่ทำอาหารลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ดี จึงช่วยลดกลิ่นไม่ให้รบกวนในโวนนั่งเล่นที่อยู่ใกล้ ๆ กัน นอกจากนี้ช่องว่างแนวตั้งยังสร้างความเชื่อมโยงมิติของพื้นที่ระหว่างชั้นหนึ่งและชั้นสอง  พื้นที่เหลือข้าง ๆ ช่องว่างยังใช้ประโยชน์ในการทำเป็นชั้นลอย ช่วยให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวทำได้ง่ายขึ้นแม้จะอยู่ต่างชั้น

เคาน์เตอร์ซิงค์ล้างมือ

ทางเดินในบ้าน

ผนังกระจกที่วางเรียงรายช่วยเพิ่มความโปร่งเบา ลดความตันอึดอัดของผนังก่อทึบ เปิดรับแสงและวิสัยทัศน์ภายนอกได้ดี

ตกแต่งไฟบริเวณขั้นบันได

สเต็ปบันไดมีไฟส่องสว่างฝังด้านข้าง ทำให้การเดินแต่ละก้าวมองเห็นชัดเจนขึ้นในยามค่ำ และยังสร้างมิติที่สวยงามให้ภายในบ้านด้วย

จัดไฟบนฝ้าเพดาน

แผงกันตกไม้เป็นช่อง ๆ

ชั้นลอยตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น

ดื่มด่ำกับน้ำชาหอมกรุ่นในห้องดื่มชา

วัฒนธรรมการดื่มชาเป็นสุนทรียศาสตร์อันเรียบง่ายและงดงามของชาวญี่ปุ่น เจ้าของบ้านที่เติบโตในญี่ปุ่นก็มีความหลงไหลในการดื่มชาด้วยเช่นกัน จึงต้องการให้มีพื้นที่สำหรับนั่งพักดื่มชาในช่วงเวลาว่างบนพื้นที่ชั้นลอยที่ค่อนข้างสงบและเป็นส่วนตัว ห้องดื่มชาล้อมรอบด้วยแผงกันตกไม้เป็นช่อง ๆ ปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิ มีโต๊ะกลมไม้เตี้ย ๆ และเก้าอี้นั่งพื้นมีพนักพิง ซึ่งอาจจะมีรูปลักษณ์ต่างไปจากที่เคยเห็นในบ้านแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม แต่ก็ส่องสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์และตัวตนได้เป็นอย่างดี

แผงกันตกไม้เป็นช่อง ๆ

ช่องเก็บของ

ชั้นวางของที่ทำหน้าที่เป็นแผงกันตกบริเวณโถงเหนือห้องครัวไปด้วยในตัว

ห้องนอนโทนสีอ่อน ๆ สไตล์ญี่ปุ่น

ห้องนอน Muji ตกแต่งน้อย สบายมาก

มาถึงในส่วนของห้องนอน ออกแบบเรียบง่ายแต่อบอุ่นท่ามกลางงานไม้ที่โอบล้อม  ใช้โทนสีกลางๆ อย่างสีขาวและสีเทา ญี่ปุ่น บริเวณผนังห้องเลือกใช้หน้าต่างบานใหญ่ เพื่อดึงแสงเข้ามาเพิ่มความโปร่งสว่าง และปล่อยให้แสงแดดช่วยกำจัดไรฝุ่นในตอนกลางวัน บานหน้าต่างเป็นช่องๆ คล้ายประตู Shoji หรือฉากเป็นช่อง ๆ ที่ใช้กั้นแบ่งพื้นที่ บริเวณข้างเตียงมีที่นั่งริมหน้าต่างให้นั่งอ่านหนังสือในวันหยุด ภาพรวมของห้องเน้นเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นแบบ Muji มีความมินิมัล น้อยๆ แต่งดงาม ทุกองค์ประกอบแม้จะไม่มาก แต่กลับเข้ากันได้อย่างพอดี ช่วยเพิ่มบรรยากาศสบายๆ ในการใช้ชีวิตที่ทำให้แทบอยากลุกไปจากห้องนอนออกไปไหน

มุมทำงานเล็ก ๆ

ตู้เสื้อผ้าบิวท์อินจากไม้

ปรับประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งที่มี

walk-in closet บิวท์ด้วยไม้เก็บเสื้อผ้าและของให้ให้เป็นระเบียบหยิบจับและจัดเก็บได้ง่าย จะสังเกตว่าชนิดของไม้ที่นักออกแบบเลือกใช้เป็นไม้สัก ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นที่มีคุณสมบัติพิเศษตรงที่การยืดหดและบิดตัวค่อนข้างน้อย มีความคงทนต่อ ปลวก แมลง และเห็ดรา สามารถใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายใน โทนสีและลายไม้จะแตกต่างกับไม้ในญี่ปุ่นที่นิยมใช้เนื้อไม้สีอ่อน อย่างไม้สน cedar, cypress, red pine และ chestnut ซึ่งหาได้ยากในบ้านเราและเป็นไม้นำเข้าที่ราคาแพงมาก

ห้องน้ำแบ่งเป็นสองห้องเป็นห้องอาบน้ำและห้องสุขา เพื่อรองรับการใช้งานในกรณีที่ต้องเข้าห้องน้ำพร้อมกัน  ในห้องอาบน้ำของญี่ปุ่นทั่วๆ ไปนั้นใน 1 ห้องจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือแห้งและเปียก ส่วนแห้งหรือ Senmenshitsu ก็จะมีเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า ตู้เก็บของใช้ และส่วนเปียกหรือ Furo แต่ในบ้านนี้จัดห้องสุขาและซิงค์ล้างมือไว้ด้วยกัน ส่วนห้องอาบน้ำแยกต่างหากและออกแบบให้มีบริเวณนั่งอาบน้ำ สำหรับเจ้าของบ้านที่ยังชื่นชอบวิธีนั่งอาบน้ำเหมือนสมัยที่ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นนั่นเองครับ

แปลนบ้าน


บ้านไอเดีย ยินดีทำหน้าที่ส่งต่อเผยแพร่ผลงานสถาปนิกไทย สถาปนิกนักออกแบบท่านใด มีผลงานที่น่าสนใจ สามารถส่งผลงานมาได้ที่ [email protected] ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ครับ

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด