เมนู

รีโนเวททาวน์โฮม คนกับบ้านหายใจในจังหวะเดียวกัน

รีโนเวทบ้านทาวน์โฮม

รีโนเวททาวน์โฮม

บ้าน ที่ดีควรมีส่วนในการเติมเต็มความสัมพันธ์และความชิดใกล้ของสมาชิกแต่ละคน ในขณะเดียวกันตัวอาคารก็ต้องตอบโจทย์การใช้งานและสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน  แต่เมื่อเราพบว่าสภาพแวดล้อมในบ้านไม่ลงตัว ก็ลองมองหาวิธีในการปรับและเปลี่ยนให้ดีขึ้น อย่างเช่น บ้านของคุณนีรรัตน์ เหลืองสิวากุล (ซวง) และคุณแชมป์ คู่สามีภรรยาที่เป็นนักจิตวิทยาเด็ก ทั้งคู่เคยมีเรือนหอมาแล้วหลังหนึ่ง แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัยจริงกลับพบว่า บ้านร้อนอบอ้าว เพราะกระแสลมไม่ไหลเข้าบ้าน ตลอดจนภายในบ้านยังมีการแบ่งซอยเป็นห้องเล็กห้องน้อยเยอะเกินไป ผนังเหล่านั้นไม่ได้แยกพื้นที่ใช้งานเท่านั้น แต่ยังปิดกั้นปฏิสัมพันธ์ด้วย เพราะแต่ละคนต่างคนต่างอยู่คนละมุมของตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าบ้านหลังนี้ไม่อบอุ่นเป็นครอบครัวเท่าที่ควร ทั้งคู่จึงมองหาบ้านมือสองที่อยู่ใกล้กับบ้านคุณพ่อคุณแม่และที่ทำงานมา Renovate ใหม่ จนได้ผลงานเป็นทาวน์โฮมที่ชวนสะดุดตาหลังนี้

ออกแบบ : Eco Architect
เนื้อหาบ้านไอเดีย

รีโนเวททาวน์โฮม

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ก่อนปรับปรุง : เป็นบ้านแถวสามชั้น 1 คูหาหลังมุมสุด พื้นที่อาคาร 200 ตารางเมตร พื้นที่ดิน 125 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในซอยกาญจนาภิเษก 008  แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพฯ สภาพเดิมค่อนข้างเก่า มีหลังคาโรงรถคลุมถึงประตูรั้วบ้าน ชั้นบนมีระเบียงซึ่งไม่ค่อยได้ออกมาใช้งานเพราะหันหน้าออกถนน ภายในบ้านค่อนข้างมืด

ฟาซาดอิฐช่องลม

ฟาซาดอิฐช่องลม

หลังปรับปรุง : ภายนอกเปลี่ยนเปลือกบ้านให้สดใส เป็นผืนฟาซาดสีขาวที่ใช้บล็อกช่องลมรูปสามเหลี่ยมก่อเป็นแพทเทิร์นบริเวณชั้นบน ซึ่งไม่ใช่เป็นการตกแต่งเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่คิดเผื่อเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยและเรื่องการระบายอากาศตามธรรมชาติด้วย เพราะฟาซาดช่องลมจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้คนภายนอกมองเห็นพื้นที่ใหม่ที่ค่อนข้างโล่งภายในบ้าน นอกจากนี้ช่องทึบสลับโปร่งยังช่วยกรองและกันความร้อนจากแสงแดด ลักษณะผนังที่เป็นรูพรุนจะไม่ขวางทิศทางของกระแสลม ตอบโจทย์เรื่องการอยู่สบายและเป็นบ้านที่หายใจไปพร้อมกับธรรมชาติ

ส่วนหลังคาโรงรถยังคงอยู่ในระยะเท่าเดิมแต่ปรับเปลี่ยนการออกแบบให้เป็นช่องเล็ก ๆ ทำให้มีส่องลอดได้ หน้าบ้านจึงไม่ทึบเหมือนเคย

ในบ้านก่อนปรับปรุง

ภายในก่อนปรับปรุง : จะเห็นว่าอาคารเป็นทาวน์โฮมที่ปิดผนังทึบทั้งสองด้าน ระหว่างกลางอาคารเต็มไปด้วยผนังแบ่งซอยพื้นที่ใช้สอยออกเป็นห้อง ๆ เพราะบ้านหลังนี้เคยถูกปรับปรุงทำเป็นสำนักงานมาก่อน ทำให้บ้านดูมืดมาก กระแสลมไม่สามารถวิ่งผ่านแต่ละห้องได้ จึงทำให้เกิดความอับชื้น

ห้องนั่งเล่นหลังปรับปรุง

ช่องเปิดขนาดใหญ่หลังปรับปรุง

ภายในหลังปรับปรุง : สถาปนิกมองหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้บ้านอยู่สบายขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการสร้างช่องเปิดและช่องแสงใหม่ ๆ เริ่มจากการการเจาะรื้อผนังกั้นห้องเดิมที่ไม่จำเป็นออก เพื่อเชื่อมต่อสเปซให้บ้านโล่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเป็นการเปิดโล่งทั้งแนวระนาบและแนวตั้ง เมื่อไม่มีผนังกั้นก็ไม่มีอปุสรรคขวางทิศทางลม และสามารถดึงกระแสลมธรรมชาติให้สามารถไหลเข้าไปในทุกส่วนของบ้านได้ในลักษณะของ Cross ventilation หรือการระบายอากาศออกทางช่องฝั่งตรงข้ามของอาคาร โชคดีที่บ้านนี้อยู่หลังมุมสุด ทำให้มีที่ว่างด้านข้างที่สามารถเพิ่มช่องเปิดเป็นประตูขนาดใหญ่ได้หลายบาน เปิดมุมมองไปยังสวนที่จัดเอาไว้ภายนอก และรับแสงธรรมชาติจากด้านข้างของบ้านได้มากขึ้น จนลืมไปเลยว่าบ้านนี้เคยมืดมาก ๆ

บ้านโถงสูง

ครัวและห้องทานอาหารหลังปรับปรุง

ข้อจำกัดที่เหมือนๆ กันในบ้านลักษณะทาวน์โฮม หรือบ้านที่มีตั้งแต่สองชั้นขึ้นไปอีกประการหนึ่ง คือ โครงสร้างของพื้นเพดานจะเทปิดระหว่างชั้นทึบทั้งหมด มีช่องว่างเพียงโถงบันไดเท่านั้น ซึ่งก็มักจะถูกปิดด้านข้างด้วยเช่นกัน ดังนั้นระหว่างคนที่ใช้ชีวิตอยู่คนละชั้นจึงแทบไม่มีโอกาสในการมองเห็นหรือพูดคุยกันเลย บ้านหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน สถาปนิกจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการยอมเสียพื้นที่ส่วนหนึ่งของพื้นชั้นสองเจาะเป็นช่องว่างโถงสูง (Double Space) ให้แต่ละชั้นเปิดโล่งเชื่อมต่อถึงกันได้ จากชั้น 1 สามารถเงยหน้าขึ้นไปพูดคุยกับคนที่อยู่บนชั้น 2 และ 3 ได้ นอกจากนี้พื้นที่ที่เป็น Double Volume ยังเอื้อให้ความร้อนลอยตัวขึ้นและไหลออกจากอาคารได้ดี

ตกแต่งวัสดุลายไม้

บ้าน double space

รอบช่องว่าง Double Space รายล้อมด้วยฟังก์ชันต่าง ๆ ที่กั้นด้วยกระจกใส จึงไม่เป็นอุปสรรคของการมองเห็น ในขณะที่คนหนึ่งกำลังใช้ชีวิตอยู่ชั้นบน ก็ยังสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวในชั้นล่าง ทำให้รู้สึกว่าบ้านไม่เหงา คนในบ้านมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

มุมนั่งทำงานเล็ก ๆ

มุมมองบ้านจากด้านบน

วัสดุและสีที่ใช้การในกปรับปรุงบ้านใหม่ ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างบรรยากาศ ปรับเปลี่ยน Mood&Tone ของบ้านให้ต่างจากเดิมอย่างชัดเจน โดยสถาปนิกเลือกใช้สีขาวเป็นสีพื้นหลังในบริเวณกว้าง ตัดด้วยวัสดุลายไม้หลากเฉดสี ผสมผสานกับกระจกใสที่เพิ่มมุมองอิสระให้บ้าน จึงทำให้รู้สึกได้ถึงความสว่าง อบอุ่น และผ่อนคลายได้ในทุกพื้นที่

บันไดก่อนรีโนเวท

แม้ว่าจะเพิ่มช่องแสงด้านข้างแล้วก็อาจจะยังไม่พอ สถาปนิกจึงเพิ่มช่องทางรับแสงธรรมชาติจากด้านบนผ่านสกายไลฟ์ ในลักษณะของ Daylight ในส่วนพื้นที่สาธารณะและเหนือบันไดขึ้นสู่ชั้นบน ช่วยเกลี่ยให้ทุกส่วนของบ้านมีแสงสว่างสม่ำเสมอ ภาพรวมหลังปรับปรุงจึงทำให้บ้านบ้านไม่ขาดแสง ไม่ขาดลม และไม่ขาดพื้นที่ที่รายล้อมด้วยความรัก ตรงกับความตั้งใจที่เจ้าของบ้านต้องการในทุกข้อ

แปลนบ้าน

แปลนบ้าน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ทาวน์โฮม


โพสต์ล่าสุด